ลองจินตนาการว่าคุณเป็นเจ้าหน้าที่บังคับรถไฟ และในขณะนี้ รถไฟขบวนหนึ่งที่ไร้การควบคุมกำลังพุ่งเข้าหาคนงาน 5 คนซึ่งกำลังซ่อมรางรถไฟอยู่พอดี ทั้ง 5 คนไม่มีเวลามากพอที่จะหลบทัน และพวกเขาก็จะต้องโดนนรถไฟบดขยี้หากคุณไม่สับสวิตช์ให้รถไฟวิ่งไปอีกรางหนึ่งแทน ทว่า รางรถไฟรางที่สองนั้นก็มีคนงานยืนอยู่ 1 คนเช่นกัน คุณมีเวลาเพียงไม่กี่วินาทีที่จะตัดสินใจ ว่าจะปล่อยให้คน 5 คนตายไปต่อหน้าต่อตา หรือจะสับสวิตส์เพื่อคร่าชีวิตคนงาน 1 คนเพื่อช่วยอีก 5 คนที่เหลือ?
"ปัญหารางรถไฟ" นี้เป็นปัญหาทางปรัชญาซึ่งถกเถียงกันมายาวนาน ล่าสุด จอห์น คลาวด์ คอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์ไทมส์รายงานว่า ทีมวิจัยภาควิชาจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกนได้คิดค้นเทคโนโลยีโลกเสมือนขึ้นมา เพื่อทดสอบปฏิกิริยาทางร่างกายและจิตใจเมื่อมนุษย์ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ สองสำนักทางปรัชญาที่ยืนอยู่คนละขั้วกันในคำถามนี้ได้แก่ สำนัก "อรรถประโยชน์นิยม" (utilitarian) ซึ่งตอบว่า เราควรเลือกคร่าชีวิตคนหนึ่งคนเพื่อช่วยอีก 5 ชีวิตที่เหลือ ขณะที่อีกสำนักหนึ่งเชื่อว่า ให้พระเจ้าหรือธรรมชาติเป็นผู้กุมชะตาในเรื่องนี้เอง และ "เราไม่ควรเป็นฝ่ายลงมือคร่าชีวิตผู้อื่น"
คลาวน์ระบุว่า ในหลายปีที่ผ่านมา ผลสำรวจหลายต่อหลายชิ้นให้ผลออกมาว่า ผู้คนประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เลือกที่จะคร่าชีวิตชาย 1 คนเพื่อช่วยชีวิตคนอีก 5 คน อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการทดลองใดที่จะศึกษาว่า ผู้คนมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์จำลองที่ "เสมือนจริง" ซึ่งเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาพวกเขา
นักจิตวิทยา เดวิด นาวาเร็ต แห่งมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน ให้อาสาสมัครจำนวน 147 คนสวมหมวก "เสมือนจริง" ที่จะให้ภาพอวตาร์ (มนุษย์จำลอง) ของคนงานดังกล่าว ซึ่งนั่นรวมไปถึงภาพคนงานกำลังกรีดร้องอย่างตกใจขณะที่ขบวนรถไฟกำลังวิ่งเข้าหาพวกเขา
http://www.youtube.com/watch?v=YLpn71dxoFY&feature=youtu.be
โลก "เสมือนจริง" ที่คิดค้นโดยทีมวิจัย
ทีมวิจัยยังได้ติดอุปกรณ์วัดปฏิกิริยาตอบสนองของอาสาสมัคร ซึ่งสามารถวัดปฏิกิริยาทางประสาทเมื่อพวกเขาต้องเผชิญความเครียดในสถานการณ์ดังกล่าว นาวาเร็ตและทีมพบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของอาสาสมัครก็ยังคงเลือกที่จะคร่าชีวิตคนงาน 1 คนเพื่อช่วยอีก 5 คนที่เหลือ โดยอาสาสมัครจำนวน 133 คนเลือกที่จะสับปุ่มสวิตช์รางรถไฟ
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีดังกล่าวยังให้ผลออกมาว่า สำหรับอาสาสมัครที่มีความสะเทือนอารมณ์จากภาพเสมือนข้างต้น (ซึ่งวัดได้จากสารสื่อประสาทภาพใต้ผิวหนัง) มีแนวโน้มที่จะเลือกไม่สับสวิตช์
ทีมนักวิจัยยังได้ทำการศึกษาชิ้นที่สอง โดยเปลี่ยนให้ "รถไฟกำลังจะพุ่งเข้าชนคนงานหนึ่งคนที่อยู่บนราง" แทน หรือพูดในอีกแง่หนึ่ง ครั้งนี้ อาสาสมัครจะมีบทบาทเป็นผู้เลือกแบบ "passive" โดยพวกเขาต้องเผชิญกับตัวเลือกที่ว่า จะปล่อยให้รถไฟขบวนดังกล่าววิ่งไปเรื่อยๆจนบดขยี้คนงานหนึ่งคนดังกล่าว หรือจะสับสวิตช์ให้รถไฟวิ่งไปชนอีก 5 คนที่อยู่อีกรางหนึ่งแทน อีกครั้งที่ผลการทดลองออกมาว่า อาสาสมัคร 90 เปอร์เซ็นต์เลือกวิธีแรก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงคำถามที่ว่า หากคนงานหนึ่งคนนั้นเป็นลูก พ่อ แม่ หรือญาติคนใดคนหนึ่งของคุณละ คุณยังจะเลือกที่จะรักษา 5 ชีวิตที่เหลือโดยการเสียสละชีวิตของคนใกล้ชิดอยู่อีกหรือเปล่า
ผลการสอบถามระบุว่า คราวนี้ คนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เลือกจะช่วยชีวิตอีก 5 คนที่เหลือ
"ผลการศึกษานี้ทำให้เราเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์?" คลาวด์ตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจ "อย่างน้อยๆ เราก็รู้ว่าวิวัฒนาการทำให้เราโหดเหี้ยมและเห็นแก่ตัว เราคิดคำนวณโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการ "สั่งประหาร" คนๆหนึ่ง เว้นเสียแต่ว่า คนๆนั้นจะเป็นคนในครอบครัวของเรา" คลาวด์กล่าว
วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา
มติชนออนไลน์.
|