เชื่อกันว่ารถจักรยานใน สยาม ที่รู้จักกันในนาม "รถถีบ" มีเข้ามาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ตอนปลายแล้ว (สมัยรัชกาลที่ 4 ระหว่างพ.ศ.2394-พ.ศ.2411) ในช่วงนั้นตรงกับ ค.ศ.1851-1868 เป็นปีที่ ฝรั่งเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษระดมความคิดสร้างสรรค์จักรยาน ประดิษฐกรรมเฟื่องฟูที่สุด
ก่อนเปิดยุคอุตสาหกรรมพัฒนาถึงขั้นผลิตส่งออกขายได้ทั่วโลกในปี 1885
ช่วงนั้นชาวต่างชาติเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในประเทศสยาม เริ่มมีบาทบาทจากด้านการฑูต การเมือง ศาสนา มีการสร้างถนนหนทางสายหลัก สำคัญในเมืองหลวงรอบๆพระบรมมหาราชวัง บรรดานายช่างฝรั่งที่เข้ามาช่วยสร้างถนนก็เอารถถีบมาใช้งาน และถีบออกกำลังกายกัน
รถถีบสมัย ร.5
ระหว่าง พ.ศ. 2411-2453
มีการสั่งจักรยานมาขายเป็นครั้งแรก กรมหลวงราชบุรีฯสั่งจักรยานมา 100 คัน
กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สั่งจักรยานมา 100 คัน
มีการฝึกหัดขี่จักรยานในรั้ววังฯ มีการประกวดแฟนซีขี่จักรยาน
มีการตั้งสโมสรผู้ขี่จักยาน มีการซื้อขายเป็นต้นแบบการค้าจักรยานครั้งแรกในสยาม
ข่าวจักรยานหาย
เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม เวลาเยนกำลังลูกจ้างของ มิศเตอรเฮนตริกซ์ แห่งสถานกงสุลอังกริษ
คุมรถีบปายซิเกิลของนายจะกลับบ้าน มีไทยคนหนึ่งได้ทักทายลูกจ้างผู้นั้นและบอกแก่ลูกจ้างว่า
จะชี้ให้ขี่รถนั้นอย่างไรจึ่งจะดี ลูกจ้างผู้นั้นก็ยอมให้ไทยผู้นั้นขี่พอไทยผู้นั้นขึ้นแล้ว
ก็ถีบรถนั้นไปด้วยเตมกำลัง ฝ่ายลูกจ้างเหนว่าเสียทีก็ร้องขโมยๆ หมอเฮสซึ่งมีความสงไสย
ก็กระโดดขึ้นบนรถรางแล้วให้ผู้เปิดเครื่องรถรางเปิดเครื่องไล่ตามคนไทยที่ขี่รถถีบนั้น
คนไทยนั้นเหนว่าจะหนีไม่พ้นก็กระโดดลงจากรถถีบวิ่งหนีเข้าตรอกไป
พลตะเวนได้เก็บรถถีบแล้วมิศเตอรเฮนตริซ์ ผู้เปนเจ้นของได้ไปขอคืนมา
(จากคอลัมน์ "ข่าวเบ็ดเตล็ด" หนังสือพิมพ์รายวัน บองกอกไตมส์
ประจำวันที่ 2 สิงหาคม ร.ศ.117 (พ.ศ.2441) เรียบเรียงตามต้นฉบับเดิม)
คนไทยเคยขี่จักรยานรอบโลก ตั้งแต่ 40
เด็กๆเชื่อไหมว่าจักรยานซึ่งมีวงล้อไม่ใหญ่โตนัก หากเราปั่นไปทีละรอบ
โดยไม่หยุด เราสามารถขี่รอบโลกใบใหญ่ๆของเราได้ บางคนอาจคิดว่าเป็นไปไม่ได้
แต่คนไทยคนหนึ่งเคยทำมาแล้วตั้งแต่เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว
คนไทยคนเก่งผู้นั้นคือ อ.ปรีชา พิมพ์พันธ์ เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า
เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ก็คิดจะลองขี่จักรยานไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา
แทนการนั่งเครื่องบินหรือเรืออย่างที่ใครๆในสมัยนั้นทำกัน
"ที่แรกไม่รู้ว่าจะไปถึงหรือเปล่า จึงต้องทดลองก่อน เพราะยังไม่เชื่อมั่นในตัวเอง
เลยต้องทดลองเอาแค่ใกล้ๆก่อน จากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ เออ 750 กิโลเมตร
ไปได้ ไปช้าๆ แต่ก็ยังไม่แน่ใจอีก คราวนี้ไปใหม่ กรุงเทพฯ - สุไหโก-ลก นราธิวาส
แล้วขี่ไปเชียงรายต่อก่อนกลับมากรุงเทพฯ ประมาณ 3 - 4 พันกิโลเมตร
ก็รู้สึกว่าทำได้แต่ยังไม่กล้าตัดสินใจ เลยทดลองขี่ไปต่างประเทศดู"
ทีนี้ก็ลองขี่จากกรุงเทพฯ ไปอรัญประเทศ เสียมราฐ พระตระบอง พนมเปญ ไซ่ง่อน
ดาลัด เว้ แล้ววกเข้าลาว อ้อมกลับสุวรรณเขต ท่าแขก แล้วก็มาภาคอีสานกลับกรุงเทพฯ
เออไปต่างประเทศได้บทเรียนนะ เขาพูดภาษาฝรั่งเศส เราพูดภาษาไทย ก็ไม่รู้เรื่องกัน
เงินตราเราก็ไม่รู้เรื่อง ภาษาเวียดนามเราก็ไม่เข้าใจ
แต่สามารถไปได้ อยู่ได้ กินได้ ขี่จักรยานไปได้
ตำรวจจับแล้วก็สามารถปล่อยเราได้ (เพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง)
นั่นแหละจึงตัดสินใจไปอเมริกา"
"ก่อนไปอเมริกาก็ต้องศึกษาเส้นทางก่อนว่าผ่านประเทศไหน
มีถนนหรือเปล่า พูดภาษาอะไรกันบ้าง มีผู้ร้ายระหว่างทางไหม
ผ่านทะเลทรายหรือเปล่า ถ้าไม่มีโรงแรม ไม่มีบ้านพักจะหลับนอนอย่างไร
เพราะฉะนั้นในจักรยานจึงต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อม
จะได้ไม่ต้องไปโหยหาอาหาร ไม่ต้องโทรทางไกล
เราต้องช่วยตัวเองตลอด ต้องศึกษาเตรียมตัวให้พร้อม"
"เสร็จแล้วก็เดินทางไป ตอนนั้นอายุ 25 ปี จบปริญญาตรีแล้ว
สำหรับคนไทยเขาว่าวัยเบญจเพส คนวัยเบญจเพสส่วนมากเขาไปหาพระ
รดน้ำมนต์แก้ซวย ไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องทำอะไรทั้งปี
แต่เราไม่ถือ ต้องเชื่อมั่นในตนเอง
แต่เราก็ต้องมีเหตุผลพอสมควรในการที่จะเชื่อมั่น จะทำอะไร"
นี่คือเคล็ดลับของ อ.ปรีชา รวมทั้งการเตรียมความพร้อมทางร่างกายก็เป็นปัจจัยสำคัญ
"เราต้องฝึกร่างกายก่อน ไม่ใช่อยู่ๆลุกขึ้นมาขี่รอบโลกเลย
ต้องวิ่งต้องออกกำลังกาย ก่อนเดินทางก็ซ้อมวิ่งรอบสนาม 400 เมตร 25 รอบ
แต่ไม่ใช่อยู่ๆวิ่ง 25 รอบเลยนะ วันแรกได้รอบเดียว
วันที่ 2 ได้รอบครึ่ง ถ้ารู้สึกว่าเหนื่อยก็หยุดทันที"
"อาหารก็อย่ากินมากเกินไป ของหวานอย่าหวานจัดเกินไป
ควรใช้ความหวานจากผลไม้ดีกว่าน้ำตาล โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม ส้ม"
"เงินก็อย่าเตรียมไปมากเพราะจะโดนจี้เอาไปเสียก่อน
รถใหม่มาก แพงมากก็ไม่ควรเอาไป แค่ถึงเขตพม่าก็โดนตีหัวเอาจักรยานไปแล้ว"
"เดินทางไกลคนเดียว เวลาจะใช้เงินก็ไม่ใช่ควักออกมาเป็นปึก เหรียญเต็มมือ
อย่าทำอย่างนั้น ควรหยิบออกมาทีละเหรียญ
ซื้อของ 5 รูปีก็ค่อยๆควักทีละหนึ่งรูปี
บางทีควักได้ 4 อันแขกใจร้องอาจจะบอกเออๆเอา 4 รูปีพอ
ก็ทุ่นไป 1 รูปี พยายามควักแล้วควักอีก
เขาจะได้นึกเอาไปคนนี้มันยากจนเพราะฉะนั้นอย่าไปปล้นมันให้เสียเวลาเลย
อันนี้คือสิ่งที่เราต้องเอาตัวรอด"
เมื่อทุกอย่างพร้อม เวลา 4.00 น.วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504
ปรีชา พิมพ์พันธุ์ ซึ่งขณะนั้นสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตรุ่นที่ 5
ของโรงเรียนการฝึกหัดครูชั้นสูง ประสานมิตรแล้ว
ก็ได้เริ่มขี่จักรยานออกจากมหาวิทยาลัยประสานมิตร
เขาพาจักรยานผ่านกรุงเพทฯ ไปลพบุรี ปากน้ำโพ (นครสวรรค์)
กำแพงเพชร ตาก แม่สอด พม่า อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน
ตุรกี กรีก อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ลงเรือไปข้างฝั่งที่ นิวออลีนส์
แล้วขี่จักรยานมุ่งหน้าไปทำปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยอลาบาม่า
รวมระยะการเดินทาง 6 เดือน
แค่ฟังหลายคนก็อาจจะเหนื่อยเสียแล้ว
"แต่คนขี่ไม่เหนื่อยหรอก สนุก" อ.ปรีชาว่าอย่างนั้น
และด้วยความสนุกนี่เอง เมื่อ 6 ปีก่อนแม้กำลังจะย่างเข้า อายุ 60
อ.ปรีชาก็ขนสัมภาระพร้อมด้วยจักรยานคู่ใจบินไปขี่รถ
เลาะเรียบขั้วโลกเหนือลงมาขั้วโลกใต้อีกครั้ง !
......โห..คนไทยก็ทำได้ !?!.....
ขอบคุณวารสารชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
|