หน้า 1 จาก 25
สารบัญ
วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555
เตือนภัยโลกขาดน้ำ แนะกินผักแทนเนื้อ
ภาวะขาดแคลนอาหารจะไม่ได้จำกัดวงอยู่แต่ในแถบประเทศยากจนอย่างแอฟริกา หรือประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเกาหลีเหนืออีกต่อไป นักวิทยาศาสตร์ด้านน้ำชั้นนำของโลกเตือนว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเลวร้ายและขยายวงกว้างไปทั่วโลกภายใน 40 ปีนี้ ถึงขั้นที่ประชากรโลกต้องหันมากินผักแทนเนื้อ
รายงานของมาลิก ฟอลเคนมาร์ก และคณะจากสถาบันน้ำนานาชาติสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ระบุว่า ประชากรโลกจะต้องเปลี่ยนวิถีการบริโภคมาเป็นมังสวิรัติภายในปี 2593 เนื่องจากภาวะขาดแคลนน้ำจะส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารป้อนประชากรโลกที่ขณะนั้นจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน
'มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่โดยอาศัยโปรตีนจากเนื้อสัตว์ร้อยละ 20 แต่เมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านคน อาจต้องบริโภคเนื้อสัตว์เหลือเพียงร้อยละ 5 จะมีน้ำไม่พอต่อการเพาะปลูกอาหารสำหรับคน 9,000 ล้านคน หากอัตราการเพาะปลูกและบริโภคยังเป็นอย่างในปัจจุบัน แต่จะเพียงพอถ้ามนุษย์ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงเหลือร้อยละ 5 และพึ่งระบบการค้าอาหารเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ' รายงานจากสตอกโฮล์มระบุ
ขณะเดียวกันองค์การอ็อกซ์แฟมซึ่งเป็นองค์กรการกุศลด้านสิ่งแวดแล้มของอังกฤษและสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต่างก็เตือนว่าโลกจะเกิดวิกฤตด้านอาหารภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นวิกฤตระลอกที่ 2 ต่อจากรอบแรกเมื่อปี 2551 ที่มีประเทศได้รับผลกระทบ 28 ประเทศ โดยขณะนี้ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีในตลาดโลกเพิ่มขึ้นแล้วเกือบร้อยละ 50 จากเดือนมิ.ย. อันเป็นผลมาจากภาวะความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในสหรัฐและรัสเซีย รวมถึงฤดูมรสุมที่พัดถล่มเอเชีย มีประชากรกว่า 18 ล้านคนกำลังเผชิญภาวะขาด แคลนอาหารขั้นรุนแรง
อ็อกซ์แฟมคาดการณ์ว่า ราคาอาหารแพงจะรุนแรงในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ แอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางที่ต้องหันไปพึ่งการนำเข้าอาหารปริมาณมาก
การหันมากินผักเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำลงในสถานการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เนื่องจากสัตว์ที่อุดมด้วยแหล่งโปรตีนใช้น้ำมากกว่าการปลูกผัก 5-10 เท่า นอกจากนี้ พื้นที่เพาะปลูก 1 ใน 3 ของโลกยังมีไว้เพื่อเลี้ยงสัตว์ หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือการกำจัดสิ่งปฏิกูลของเสียและเพิ่มการค้าด้านอาหารระหว่างประเทศที่มีอาหารล้นเหลือกับประเทศที่ขาดแคลน รายงานจากสตอก โฮล์มระบุอีกว่า ปัจจุบันมีประชากรหิวโหย 900 ล้านคนและอีก 2,000 ล้านคนขาดสารอาหาร
ด้านยูเอ็นแนะว่าโลกจะต้องเพิ่มการผลิตอาหารอีกร้อยละ 70 ซึ่งคงจะเพิ่มความตึงเครียดให้กับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องโอนถ่ายน้ำให้มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการพลังงานที่จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 60 ใน 30 ปีนี้ รวมทั้งการแบ่งจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชากร 1,300 ล้านคนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้
ขณะที่รายงานจากสถาบันบริหารจัดการน้ำสากล (IWMI) ระบุว่า หนทางที่ดีที่สุดจากการช่วยเหลือเกษตรกรจากภาวะขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศแถบทะเลทรายซับซาฮาราและเอเชียใต้คือช่วยลงทุนเรื่องปั๊มน้ำและเทคโนโลยีพื้นฐาน ซึ่งดีกว่าลงทุนโครงการใหญ่ๆ ที่มีต้นทุนมหา ศาล
ดร.โคลิน ชาร์เทรส ผู้อำนวยการ IWMI กล่าวว่า 'เราสังเกตพบครั้งแล้วครั้งเล่าว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศยากจนของโลกคือประชากรส่วนใหญ่พึ่งเกษตรกรรมในการดำรงชีวิตและเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่เมื่อหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีขนาดเล็กๆ พบว่าช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากถึงร้อยละ 300 และภาพรวมพบว่าช่วยให้มีรายได้มากขึ้นเป็นหมื่นล้านดอลลาร์'
ทั้งนี้ รายงานสถาบันน้ำนานาชาติสตอกโฮล์มมีออกมาขณะเริ่มมีการประชุมประจำปีว่าด้วยเรื่องน้ำที่กรุงสตอกโฮล์ม ที่มีนักการเมือง เจ้าหน้าที่ยูเอ็นและนักวิจัย 2,500 คนจาก 120 ประเทศจะหารือกันถึงปัญหาเรื่องน้ำที่ประเทศสวีเดน
|