หน้า 29 จาก 31
หน้า 29
วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
e-agricuture ระบบเกษตรออนไลน์ จัดเต็มข้อมูล-คำปรึกษาช่วยพัฒนา'การเกษตรไทย'
"เอเชีย" เป็นภูมิภาคที่สำคัญในฐานะที่เป็น "อู่ข้าวอู่น้ำ" ส่งผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ในปัจจุบันหลายประเทศในทวีปเอเชียกำลังประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ไม่ว่าจะโดยภัยธรรมชาติหรือภัยจากมนุษย์
ดร.ไลซ่า อาร์มสตรอง นักวิชาการด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากประเทศออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มปัญหาที่เกษตรกรในยุคปัจจุบันจะต้องเผชิญ คือ ผลผลิตที่ตกต่ำเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน แต่ในขณะเดียวกันประชากรโลกกลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อแบ่งปันข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรในการปรับปรุงผลผลิต จึงเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่สำคัญในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว
การถือกำเนิดของเว็บไซต์ระบบเกษตรออนไลน์ หรืออี-อะกริคัลเจอร์ (http://www.e-agricuture.org/) ถือเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้คำปรึกษากับเกษตรกร อาทิ ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากสภาวะอากาศแปรปรวนทั่วโลก และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากองค์กรด้านการเกษตรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เป็นต้น
นอกจากนั้น ดร.ไลซ่ายังเผยถึงการทำงานวิจัยในพื้นที่ต่างๆ พบว่า ในออสเตรเลียทางตะวันตกมีปัญหาดินไม่มีคุณภาพและความแปรปรวนของภูมิอากาศ เช่นเดียวกับในอินเดีย ซึ่งฝนตกทิ้งช่วงและภัยแล้ง ขณะที่ในประเทศไทย ดร.ไลซ่าร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นก่อตั้ง "ห้องปฏิบัติการทางสังคม" เพื่อใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางการเกษตรสู่เกษตรกร ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเกษตรอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้สามารถรับข้อมูลข่าวสารทันท่วงที คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นรากฐานในการพัฒนาระบบโทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบธรรมดาและ 3G ที่มีภาพเคลื่อนไหวต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากการใช้เทคโนโลยีการเกษตรในนั้น ดร.ไลซ่า ได้แสดงความเห็นว่า ไทยยังขาดประสิทธิภาพทั้งทางด้านบุคลากรและเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ใช้ภาษาท้องถิ่น ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเท่าที่ควร แต่ก็ยังนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการพัฒนาการเกษตรให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนต่อไป
ดาวเคราะห์สีน้ำเงิน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวฮือฮาในแวดวงดาราศาสตร์ เกี่ยวกับการค้นพบดาวเคราะห์สีน้ำเงินคล้ายคลึงกับโลก จุดกระแสเรื่อง 'โลก 2' ให้ครึกครื้นขึ้นมาอีกครั้ง
เอเอฟพีรายงานว่า กล้องฮับเบิลตรวจพบดาวเคราะห์ดวงหนึ่งนอกระบบสุริยะ ปรากฏว่ามีสีน้ำเงินเหมือนโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ยากยิ่ง
โดยดาวดวงนี้อยู่ห่างจากโลกประมาณ 63 ปีแสง หรือราว 6 แสนล้านกิโลเมตร มีอุณหภูมิพื้นผิวสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส
แถมมีพายุผลึกแก้วพัดกระหน่ำด้วยความเร็วลม 7,000 ก.ม./ช.ม.!
ลักษณะเป็นดาวก๊าซขนาดใหญ่พอๆ กับดาวพฤหัสบดี มีวงโคจรอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ศูนย์กลาง และใช้เวลา 2.2 วัน (เมื่อเทียบกับโลกของเรา) ในการโคจรจนครบวง
และด้วยเหตุที่มันอยู่ใกล้ดาวฤกษ์นี่เอง ส่งผลให้ 'เอชดี 189733 บี' มีอุณหภูมิสูงเกินกว่าจะมีรูปแบบของสิ่งมีชีวิตใดๆ จะดำรงอยู่ได้
สำหรับสีน้ำเงินที่ปรากฏให้เห็นนั้น หาใช่น้ำตามข้อสันนิษฐานเบื้องต้น แต่เป็นอนุภาคซิลิเกต (ซึ่งกระจายแสงสีน้ำเงิน) ที่ฟุ้งกระจายอยู่เต็มชั้นบรรยากาศ
เมื่อรวมกับกระแสลมระดับพายุ ส่งผลให้พายุเศษแก้วนี้ เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการกำเนิดชีวิตเช่นเดียวกัน
สรุปได้ว่า ดาว 'เอชดี 189733 บี' เหมือนกับโลกแค่เรื่องสีอย่างเดียวเท่านั้น ที่เหลือแตกต่างกันอย่างมาก
แต่อย่างน้อยนักวิจัยก็แถลงว่า ข้อมูลที่ได้มีประโยชน์ในแง่ของการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของสีของดวงดาว (ที่ดูผ่านกล้องโทรทรรศน์) กับสภาพแท้จริงในชั้นบรรยากาศ
|