หน้า 20 จาก 31
หน้า 20
วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
ไทยจ่อเดินเครื่องฉายรังสี'แกมม่า' หนุนผลไม้ไปนิวซีแลนด์-คาดเพิ่มส่งออก300ล.
ศูนย์ฉายรังสี สนท. หรือสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมเดินเครื่องฉายรังสีผลไม้ไทย 3 ชนิด ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด เพื่อส่งออกไปประเทศนิวซีแลนด์ ตามมาตรฐานของนิวซีแลนด์ภายในสิ้นปีนี้ โดยจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถส่งออกผลไม้ได้เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาทต่อปี
ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน. เปิดเผยหลังจากให้การต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่กักกันพืชประเทศนิวซีแลนด์ว่า ที่จริงแล้วไทยเรามีการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศนิวซีแลนด์ปีละมากกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเฉพาะผลไม้ทั้งสามชนิดก็ได้มีการส่งออกไปยังนิวซีแลนด์อยู่แล้ว โดยใช้เทคนิคการรมควันเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงศัตรูพืช
ดร.สมพรกล่าวว่า ปัญหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ ผู้ประกอบการส่งออกถูกส่งกลับสินค้าเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเทคนิคการรมควันไม่สามารถฆ่าแมลงศัตรูพืชได้หมด และทำให้มีสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตรเหล่านั้น เมื่อส่งไปถึงนิวซีแลนด์แล้วมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นสินค้าล็อต นั้นก็จะถูกส่งกลับทันที การนำเทคโนโลยีการฉายรังสีจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ส่งออกผลไม้ไทย และอาจจะเป็นเทคโนโลยีที่นำมาทดแทนการรมควันได้ในอนาคต เพราะเทคโนโลยีฉายรังสีนี้ สทน.ได้ดำเนินการสำเร็จมาแล้วในตลาดสหรัฐอเมริกา ผ่านไปแล้ว 5 ปีก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างไร หากได้รับอนุญาตจากรัฐบาลนิวซีแลนด์คาดว่าน่าจะมีมูลค่าการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นปีละ 300 ล้านบาท
ด้านกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ประสานงานและส่งเสริมเชื่อว่าไทยคงได้รับอนุญาตนำเข้าผลไม้ 3 ชนิดข้างต้นโดยวิธีการฉายรังสีภายในสิ้นปี 2556 นี้ และศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะเป็นศูนย์ฉายรังสีแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้ฉายรังสีผลไม้ส่งออกไปยังประเทศนิวซีแลนด์ เช่นเดียวกับครั้งที่ไทยได้รับอนุญาตจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา
ก.วิทย์หนุนพัฒนาหลักสูตรยาชีววัตถุ ดันไทยศูนย์ผลิตยา
อาเซียน
สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (ไทยเอสที) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาหลักสูตร วิศวกรรมศาสตร์สาขากระบวนการผลิตทางชีวภาพ และวิทยาศาสตร์สาขาเภสัชชีวภาพ เร่งผลิตบัณฑิตและสนับสนุนงานวิจัย ป้อนภาคอุตสาหกรรม ยกระดับความสามารถ ลดการนำเข้า การผลิตยา วัคซีน และสารชีวภัณฑ์ทางการแพทย์ในประเทศ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตวัสดุชีวภาพของภูมิภาคเอเชีย
การนำเข้ายาชีววัตถุในปี 2555 ของไทยมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท หากสามารถผลิตยาชีววัตถุขึ้นภายในประเทศได้ จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าและเพิ่มมูลค่าจากการผลิตภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการปูทางให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตวัสดุชีวภาพ ของภูมิภาคเอเชียในอนาคต
ศ.ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ผอ.ไทยเอสที กล่าวว่า ยาชีววัตถุนั้นแตกต่างจากยาทั่วไปเพราะได้มาจากสิ่งมีชีวิต ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เพื่อให้ได้คุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นพิเศษ ในการนำไปรักษาและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ เช่น กลุ่มโรคเมตาบอลิก กลุ่มโรคทางโลหิตวิทยา หากจะพัฒนาการผลิตยาชีววัตถุในประเทศไทย เราต้องให้การสนับสนุนด้านการศึกษาโดยมุ่งผลิตผู้เชี่ยวชาญสาขาเทคโนโลยีเฉพาะทาง ได้แก่ วิศวกรรมสาขากระบวนการผลิตทางชีวภาพ และวิทยาศาสตร์สาขาเภสัชชีวภาพ
|