บทความรวมวิทยาศาสตร์ ตุลาคม 55 |
|
|
หน้า 13 จาก 28
หน้า 13
วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2555
การปลูกถ่ายเซลล์สีผิว...ความหวังใหม่สำหรับคนไข้โรคด่างขาว - หมอรามาฯไขปัญหาสุขภาพ
เดลินิวส์
เกริ่นชื่อเรื่องมาแบบนี้ ผู้อ่านก็คงจะสงสัยกันว่า โรคด่างขาวคืออะไร แล้วการปลูกถ่ายเซลล์ สีผิวเป็นอย่างไรสามารถทำในผู้ป่วยโรคด่างขาวได้ด้วยวิธีการเช่นไร คอลัมน์หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพฉบับนี้ มีคำตอบจากคุณหมอมาฝากเช่นเคย
โรคด่างขาว เป็นโรคที่เซลล์สีผิวของร่างกายถูกทำลายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยลักษณะผิวหนังจะเป็นวงสีขาว มีขอบเขตชัด ขนาดตั้งแต่ 0.5 เซนติเมตร ไปจนถึงหลายเซนติเมตรเลยก็มี บางคนมีเพียงวงเดียว แต่ส่วนมากจะมีหลายวง ด่างขาวสามารถเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดก็ได้ของร่างกาย มักเป็นบริเวณหน้า รอบตา ปาก คอ รักแร้ ศอก เข่า มือ และเท้า โรคด่างขาวไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็ทำให้ผู้ที่เป็นมีความทุกข์ทรมาน ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจ และอาจมีปัญหาในการเข้าสังคมได้ นอกจากนี้สามารถพบโรคของต่อมไทรอยด์ร่วมกับโรคด่างขาวได้ด้วย โดยมีรายงานว่าอาจพบความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ได้สูงถึงร้อยละ 20 ของผู้ที่เป็นด่างขาว บางรายอาจเป็นโรคของต่อมไทรอยด์มาก่อนที่จะเป็นด่างขาว แต่บางรายก็พบความผิดปกติของต่อมไทรอยด์หลังจากที่เป็นด่างขาวแล้ว
การรักษาโรคด่างขาวสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของด่างขาว และตำแหน่งที่เป็นของรอยโรค ซึ่งวิธีการรักษาโรคด่างขาวมักเริ่มจากการใช้ยา เช่น ยาลดการอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยากระตุ้นสีผิว ซึ่งพบว่าการใช้ยาจะได้ผลดีหากเป็นที่ใบหน้าและทำการเริ่มรักษาโดยเร็ว ในผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะรายที่เป็นมากอาจต้องใช้การฉายแสงอัลตราไวโอเลตร่วมด้วย ซึ่งแสงอัลตราไวโอเลตที่ใช้เป็นแสงบริสุทธิ์ไม่ใช่แสงแดดทั่วไป วิธีนี้มีข้อจำกัดคือ ต้องฉายแสงอย่างต่อเนื่อง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน หากรักษาร่วมกันระหว่างการทายาและฉายแสง จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการทายาเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ยังมีการรักษาอีกวิธี คือการนำผิวหนังบริเวณที่สีผิวปกติ มาปลูกถ่ายลงบนผิวที่เป็นด่างขาว โดยเทคนิคดั้งเดิมคือการนำผิวหนังมา 1 ส่วน เพื่อปลูกถ่ายลงบนผิวหนังที่เป็นด่างขาวในอัตราส่วนที่เท่ากัน คือ 1ส่วน เหมือนการปะผ้าที่ขาด เช่น บริเวณด่างขาวมีขนาด 3 เซนติเมตร ก็ต้องนำผิวหนังบริเวณที่สีผิวปกติขนาด 3 เซนติเมตร มาทำการปลูกถ่าย ดังนั้นข้อจำกัดคือไม่สามารถทำได้ในกรณีที่รอยโรคเป็นมาก เพราะจะต้องใช้เนื้อปกติในบริเวณกว้าง
ในปัจจุบันมีเทคนิคใหม่ในการปลูกถ่ายผิวหนัง แต่แทนที่จะเป็นการนำผิวหนังปกติปะลงบนผิวหนังบริเวณด่างขาวโดยตรงเหมือนวิธีดั้งเดิมซึ่งมีจำกัดคือสามารถรักษาได้ในกรณีรอยโรคเป็นบริเวณไม่กว้าง เทคนิคใหม่ดังกล่าวเรียกว่าการปลูกถ่ายเฉพาะเซลล์สีผิว หลักการคือการนำผิวหนังบริเวณที่มีสีผิวปกติ มาผ่านกระบวนการสกัดแยกเซลล์ในห้องปฏิบัติการเฉพาะทางเพื่อสกัดเอาเฉพาะเซลล์เม็ดสี หลังจากนั้นเซลล์เม็ดสีจะถูกเตรียมให้อยู่ในรูปสารเหลว เพื่อนำไปปลูกถ่ายลงบนผิวหนังบริเวณที่เป็นด่างขาว ข้อดีของวิธีนี้คือสามารถนำไปรักษารอยโรคบริเวณที่กว้างได้มากกว่าวิธีแรก แต่มีข้อจำกัดคือต้องมีอุปกรณ์ที่พร้อมและมีห้องปฏิบัติการเพื่อสกัดแยกเซลล์ ด้วยวิธีนี้สีผิวจะกลับมาเป็นสีปกติในระยะเวลา 6-12 เดือน จึงจัดเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคด่างขาว ซึ่งที่แผนกผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ริเริ่มการรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว.
อาจารย์นายแพทย์ วาสนภ วชิรมน
แผนกผิวหนังและเลเซอร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
|