โยชิฮิโกะ ทากาโนะ โชว์ซูเปอร์คอนดัคเตอร์ (ในมือซ้าย) ที่มีสภาพเป็นตัวนำยิ่งยวดเพิ่มขึ้น 7 เท่า เมื่อจุ่มในไวน์แดง (ภาพประกอบทั้งหมดจากเอเอฟพี)
งานวิจัยแหวกแนว ที่หลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงได้ เมื่อนักวิจัยญี่ปุ่นเปลี่ยนสารประกอบเหล็กให้กลายเป็น “ซูเปอร์คอนดักเตอร์” ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ที่แท้เป็นผลจากความบังเอิญระหว่างงานปาร์ตี้ของที่ทำงาน และทีมวิจัยเตรียมเสนอผลงานเรื่องนี้ ในโอกาสครบรอบ 100 ปีการค้นพบปรากฏการณ์ตัวนำยิ่งยวด
การค้นพบที่เรียกว่าเป็นช่วงเวลา “ยูเรกา” (eureka) ของทีมวิจัยจากสถาบันวัสดุศาสตร์ญี่ปุ่น (National Institute for Materials Science) คือการที่สารประกอบที่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบหลักนั้น กลายสภาพเป็นตัวนำยิ่งยวดหรือซูเปอร์คอนดักเตอร์ได้ เมื่อจุ่มลงไปในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเบียร์ ไวน์ และสาเก ซึ่งเอเอฟพีรายงานว่า พวกเขาค้นพบปรากฏการณ์ดังกล่าว ระหว่างงานเลี้ยงของที่ทำงานเมื่อปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ทากาโนะและคณะจะนำผลงานไปจัดแสดงในการประชุมที่เนเธอร์แลนด์ ในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี การค้นพบสภาพตัวนำยิ่งยวด
ทั้งนี้ เมื่อหนึ่งในทีมวิจัยได้จุ่มแผ่นสารประกอบเหล็ก Fe(Te,S) ลงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในงานปาร์ตี้ดังกล่าวเป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วพบว่า สารประกอบดังกล่าว กลายสภาพเป็นตัวนำยิ่งยวดเมื่อให้ความเย็นจนอยู่ที่อุณหภูมิ -265 องศาเซลเซียส ซึ่งสภาพตัวนำยิ่งยวดนั้นเป็นการไหลของกระแสไฟฟ้าผ่านวัสดุนำไฟฟ้าโดยไม่มีการสูญเสียพลังงาน
ทีมวิจัยวางแผนที่จะนำเสนอผลงานนี้ ในการประชุมวิชาการที่ยุโรปในเดือน ก.ย.54 ณ เมืองเฮก (The Hague) ซึ่งอยู่ใกล้เมืองไลเดิน (Leiden) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ไฮค์ แคเมอร์ลิงฮ์ ออนเนส (Heike Kamerlingh Onnes) ผู้ค้นพบปรากฏการณ์ซูเปอร์คอนดัคเตอร์เมื่อ 100 ปีก่อน
ในบรรดาตัวเลือกทั้งหมด โยชิฮิโกะ ทากาโนะ (Yoshihiko Takano) หัวหน้าทีมวิจัยของสถาบันวัสดุศาสตร์ญี่ปุ่น กล่าวว่า ไวน์แดงเอาชนะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นได้ง่ายๆ แม้ยังไม่มีใครเข้าใจกระบวนการที่ชัดเจนว่า ไวน์แดงทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ อันเป็นที่ต้องการนี้ได้อย่างไร
โยชิฮิโกะ ทากาโนะ (ขวา) และ เคอิตะ เดกูจิ (Keita Deguchi) นักวิจัยในทีม
เมื่อเทียบกับเอทานอลหรือน้ำแล้ว การจุ่มสารประกอบลงไปในไวน์แดง ทำให้สภาพการเป็นตัวนำยิ่งยวดเพิ่มขึ้นเป็น 7 เท่า ส่วนในไวน์ขาวพบอัตราส่วนการกลายสภาพเป็นตัวนำยิ่งยวดเพิ่มขึ้น 4 เท่า และในเบียร์ สาเกกับวิสกี้นั้นทำให้การกลายสภาพเป็นตัวนำยิ่งยวดเพิ่มขึ้นเพียง 3 เท่า ซึ่งโยชิฮิโกะบอกว่า ยิ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีรสชาติดีเท่าไร ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นตัวนำยิ่งยวดได้ดีขึ้น
เป็นไปได้ว่าอาจมีความเชื่อมโยง ระหว่างสสารที่มนุษย์สัมผัสได้และสสารที่เหนี่ยวนำให้เกิดสภาพตัวนำยิ่งยวด แต่พวกเขายังไม่ทราบว่า สสารนั้นทำงานเดี่ยวๆ หรือทำงานร่วมกับสารประกอบอื่นๆ ซึ่งพวกเขาหวังว่าสักวันหนึ่งจะค้นพบวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างสภาพตัวนำยิ่งยวด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ลดการพลังงานและการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Views: 2155
Only registered users can write comments. Please login or register. Powered by AkoComment Tweaked Special Edition v.1.4.6 AkoComment © Copyright 2004 by Arthur Konze - www.mamboportal.com All right reserved |