น้ำยาทำความสะอาดสารพัดประโยชน์ และน้ำยาเช็ดกระจกหลายยี่ห้อมีแอมโมเนียเป็นส่วนผสม แอมโมเนียมีฤทธิ์เป็นด่างและสามารถกัดกร่อน มีสูตรเคมีคือ NH3 ซึ่งปกติจะอยู่ในสถานะก๊าซไม่มีสีที่มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว แต่เมื่อละลายน้ำ จะอยู่ในรูปสารละลายของ แอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ (NH4OH) อย่างไรก็ตามแอมโมเนียสามารถระเหยออกมาเป็นก๊าซ และอาจเป็นอันตรายต่อทางเดิน หายใจและดวงตาได้ โดยทั่วไปความเข้มข้นของแอมโมเนียในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือนอยู่ระหว่าง 5 – 10 % น้ำหนักต่อปริมาตร
ผลของแอมโมเนียต่อสุขภาพมีอะไรบ้าง
ผลจากการสูดดม :
หากได้รับในปริมาณไม่มากอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง แสบจมูกและลำคอ ไอหรือจาม แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงขึ้นอาจถึงขั้นหายใจผิดปกติ น้ำคั่งในปอดและอาจนำไปสู่การอุดตันของทางเดินหายใจได้ เด็กที่สัมผัส ก๊าซแอมโมเนียในปริมาณเท่ากับผู้ใหญ่ อาจจะได้รับผลกระทบจากแอมโมเนียมากกว่าผู้ใหญ่ และอาจทำให้มีอาการที่รุนแรงกว่า เนื่องจากเด็กมีพื้นที่ผิวของปอดที่จะสัมผัสกับแอมโมเนียมากกว่าผู้ใหญ่
ผลเมื่อเข้าตา :
แอมโมเนีย สามารถซึมซาบเข้าสู่ดวงตา และเป็นอันตรายได้มากกว่าด่างชนิดอื่น ๆ ดังนั้น
เมื่อผลิตภัณฑ์ที่มีแอมโมเนียเข้าตาโดยตรง หรืออาจเป็นไอของแอมโมเนีย แม้ในปริมาณต่ำ (100 ส่วนในล้านส่วน) จะทำให้เกิดการระคายเคืองเปลือกตาปิด และเป็นอันตรายต่อกระจกตาได้ หากได้รับแอมโมเนียในปริมาณมาก ๆ อาจถึงขั้นตาบอดชั่วคราวหรือถาวรได้
ผลจากการสัมผัสทางผิวหนัง :
ทำให้เกิดการระคายเคืองและผิวหนังอักเสบและไหม้ ซึ่งความรุนแรงขึ้นอยู่กับความแรงของแอมโมเนีย ระยะเวลาที่สัมผัส
ผลเมื่อรับประทานเข้าไป :
ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และในบางรายมีอาการไหม้ของปาก คอหอย หลอดอาหารและกระเพาะอาหาร
การปฐมพยาบาลเมื่อได้รับแอมโมเนีย
การได้รับแอมโมเนียจากผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน มักเกิดจากการสัมผัสทางผิวหนัง น้ำยา
กระเด็นเข้าตา หรือการรับประทานเข้าไป
หากสัมผัสแอมโมเนียทางผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก
หากเข้าตาให้ชะล้างดวงตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก ๆ ถอดคอนแทคเลนส์ออกแล้วนำตัวไปส่งแพทย์
หากรับประทานเข้าไปให้ดื่มน้ำหรือนม 1 - 2 แก้วทันที อย่าพยายามทำให้อาเจียน อย่าให้
ดื่มสารละลายของกรดเข้าไป เพื่อทำให้แอมโมเนียเป็นกลาง รวมทั้งอย่าให้รับประทานผงถ่าน (activated carbon) แล้วจึงนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ห้ามผสมผลิตภัณฑ์ที่มีแอมโมเนีย เข้ากับผลิตภัณฑ์ที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำยาฟอกขาวโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะเกิดปฏิกิริยาได้ก๊าซคลอรามีน(chloramine) ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อระบบทางเดินหายใจ รวมถึงไฮดราซีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอมโมเนีย หากคุณหรือคนในครอบครัวเป็นโรคหอบหืด เนื่องจากมีโอกาสได้รับผลกระทบจากแอมโมเนียมากกว่าคนปกติ
- ระบายอากาศในห้อง หรือบริเวณที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอมโมเนียด้วยการเปิดหน้าต่าง หรือใช้พัดลมเป่า
- ภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์เปล่าที่ใช้หมดแล้ว สามารถทิ้งลงในถังขยะได้ แต่หากจำเป็นต้องทิ้งผลิตภัณฑ์ที่ยังใช้ไม่หมดด้วยให้เจือจางด้วยน้ำปริมาณมากก่อนทิ้งภาชนะ
การเก็บรักษา
ควรปิดฝาให้สนิท และเก็บในที่มิดชิด ห่างจากเด็กและอาหาร
|